ข้อมูลพื้นฐาน ของ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ประวัติ

  • พ.ศ. 2480 เริ่มจัดตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชื่อ โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2495 เปิดสอนหลักสูตรประโยคครูประถม (ป.ป.) 1 ปี แผนกการงานสันทัด เช่น งานประดิษฐ์ , งานไม้ , งานพิมพ์ , งานไฟฟ้า , งานเสื้อผ้า
  • พ.ศ. 2496 เปิดสอนหลักสูตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.) 2 ปี แผนกการงานสันทัด โดยผู้ที่เข้ารับการศึกษาจะต้องเป็นผู้ที่จบหลักสูตรประโยคครูประถม (ป.ป.) การงานสันทัดเท่านั้น
  • พ.ศ. 2498 เปิดสอนหลักสูตรประโยคครูประถม (ป.ป.) และหลักสูตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.) การงานสันทัด และเปิดสอนฝึกหัดครู หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.ต้น) 2 ปี โดยผู้เข้ารับการศึกษาจะรับจากผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเริ่มคิดคะแนนแบบหน่วยกิตแทนแบบร้อยละ
  • พ.ศ. 2500 เปิดสอนฝึกหัดครูหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.ต้น) รอบบ่ายเพิ่มขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่มีที่เรียนต่อ โดยกำหนดให้มีการรับนักเรียนฝึกหัดครูชายขึ้นเป็นครั้งแรก ในปีนี้เองเริ่มมีนักเรียนทั้งประเภทอยู่ประจำและประเภทเดินเรียนเนื่องจากไม่มีหอนอนเพียงพอ
  • พ.ศ. 2501 เปิดสอนฝึกหัดครูหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) โดยรับจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.ต้น) และในปีนี้กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้ยกฐานะโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยเป็น วิทยาลัยครูสวนสุนันทา
  • พ.ศ. 2510 เปิดสอนฝึกหัดครูหลักสูตรประโยคครูประถม (ป.ป.) แบบเร่งรัด โดยรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หรือเทียบเท่ามาเรียนโดยใช้เวลา 1 ปี
  • พ.ศ. 2511 เปิดการสอนภาคนอกเวลาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) โดยรับจากบุคคลซึ่งมีอาชีพแตกต่างกัน และในปีต่อมาได้ทำการเปิดสอนภาคนอกเวลาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.ต้น)
  • พ.ศ. 2517 เปิดสอนระดับปริญญาตรี 2 ปี โดยใช้หลักสูตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา
  • พ.ศ. 2521 เปิดสอนระดับปริญญาตรี 2 ปี ตามโครงการอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อ.ค.ป.)
  • พ.ศ. 2523 เปิดสอนระดับปริญญาตรี 4 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เข้ารับการศึกษา
  • พ.ศ. 2525 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ภาคต่อเนื่องและภาคสมทบแทนภาคนอกเวลา
  • พ.ศ. 2527 มีพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู เป็นฉบับที่ 2 กำหนดให้วิทยาลัยครูเปิดทำการสอนได้รวม 3 สาขาวิชา และในปีนี้เองที่สาขาวิชาการศึกษาได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ
  • พ.ศ. 2528 โครงการอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อ.ค.ป) ได้ถูกยกเลิกและเปลี่ยนเป็นโครงการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) สอนทั้งในระดับอนุปริญญาและระดับปริญญาตรีสาขาวิชาการศึกษา
  • พ.ศ. 2535 วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา
  • พ.ศ. 2538 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฏ คณะวิชาครุศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะครุศาสตร์ ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของคณะเรียกว่าคณบดี และสามารถเปิดทำการสอนสาขาวิชาการศึกษาในระดับปริญญาตรีและสูงกว่าได้
  • พ.ศ. 2540 ภาควิชาพื้นฐานการศึกษาได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโทโปรแกรมวิชาภาวะผู้นำ และในปีต่อมาได้พัฒนาเป็นหลักสูตรการจัดการคุณภาพ
  • พ.ศ. 2544 รับมอบหมายจากสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ให้จัดทำหลักสูตรการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี)
  • พ.ศ. 2546 ได้รับมอบหมายจากสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ให้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมครูประจำการสำหรับบุคลากรที่ไม่มีวุฒิทางการศึกษา และในปีนี้คณะครุศาสตร์ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี) แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ และเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2547
  • พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • พ.ศ. 2547 เปิดรับเฉพาะนักศึกษาทุน 5 ปี เข้ามาศึกษาจำนวน 43 คน ประกอบด้วย 3 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ , สาขาวิชาภาษาอังกฤษ , สาขาวิชาภาษาไทย รวมทั้งได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตการบริหารการศึกษา รุ่นที่ 1
  • พ.ศ. 2548 เปิดสอนหลักสูตรการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี) จำนวน 4 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ , สาขาวิชาภาษาไทย , สาขาวิชาภาษาอังกฤษ , สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
  • พ.ศ. 2549 เปิดรับนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาขาวิชา และได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างอาคารคณะครุศาสตร์หลังใหม่เป็นจำนวนเงิน 85 ล้านบาท และในปีการศึกษานี้มีนักศึกษาคณะครุศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี รุ่นสุดท้ายที่จะสำเร็จการศึกษา แต่ยังคงมีการเปิดสอนตามหลักสูตร 4 ปี ในสาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา
  • พ.ศ. 2551 นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษา (หลักสูตร 5 ปี) รุ่นแรก สำเร็จการศึกษาและได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ
  • พ.ศ. 2554 เปิดรับนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา (5 ปี) และสาขาวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา (4 ปี) [1]
  • พ.ศ. 2559 งดรับนักศึกษาสาขาวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา (4 ปี)
  • พ.ศ. 2560 เปิดรับนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ (5 ปี)
  • พ.ศ. 2562 เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี และเปลี่ยนชื่อสาขาจาก สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ เป็น สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา

มาร์ชครุศาสตร์สวนสุนันทา "กลิ่นแก้วจุลจอม"

อาคารกรรณาภรณ์พิพัฒน์
  • ประพันธ์คำร้องโดย นายธงชัย เดือนแจ้ง
แก้วจุลจอมหอมฟุ้งปรุงจิต

ธ เนรมิตกลิ่นแก้วการศึกษา

หอมสุคนธ์ล้นสวนสุนันทา

คือคุณค่าครุศาสตร์ปราชญ์แผ่นดิน

สถานผลิตบัณฑิตครูเคียงคู่ชาติ

องอาจปราดเปรื่องเป็นทรัพย์สิน

พร้อมมรรยาทชาววังยังอาจิณ

กำจายกลิ่นครุศาสตร์ดาษดา

ทรงปัญญาศรัทธาธรรมนำสังคม

ปรัชญานิยมล้ำลึกศึกษา

ใฝ่เรียนรู้ปฏิบัติตามปรัชญา

รับใช้ประชาเป็นเรือจ้างสร้างชาติไทย

ครุยขาวแถบชมพูชูเชิด

เปี่ยมประเสริฐงามงดสดใส

ครุศาสตร์สร้างชื่อเสียงเกรียงไกร

รักษาไว้ชีพพร้อมยอมพลี

ครุศาสตร์สวนสุนันสรรค์สง่า

สร้างคุณค่าเทิดรักศักดิ์ศรี

ส่งกลิ่มหอมล้อมทั่วทั้งธานี

หอมทวีกลกลิ่นแก้วจุลจอม

ภารกิจหลัก

  • 1. ผลิตบัณฑิตตามอัตลักษณ์ และพัฒนาครูมืออาชีพที่สนองตอบการปฏิรูปการศึกษาและการฝึกหัดครูสู่อาเซียน
  • 2. บริการวิชาการคุณภาพตามความต้องการของผู้รับบริการ เพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งทางวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
  • 3. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้
  • 4. วิจัยสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ เพื่อเผยแพร่ และถ่ายทอดให้กับนักศึกษา

ใกล้เคียง

คณะครุศาสตร์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง